ประวัติวัดมเหยงคณ์ในอดีต

วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่เคยสำคัญยิ่งมาในอดีตสมัยอยุธยา โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒(เจ้าสามพระยา) ทรงสร้างขึ้น และได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้งในหลายสมัย แต่ได้กลายเป็นวัดร้าง เข้าใจว่านับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ รวมเวลาร่วงเลยมา ๒๐๐ กว่าปี ปัจจุบันเป็นวัดร้างที่สภาพโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ยังเหลืออยู่ได้ปรักหักพังไปมาก แต่ก็พอมีเค้าเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงศิลปะการก่อสร้างอันประณีตงดงามมโหฬารและระดับความสำคัญของพระอารามแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

แนวคิดทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเกี่ยวกับการสร้างวัดมเหยงคณ์ ได้แตกออกเป็น ๒ แนวทางคือ

-ตามพงศาวดารเหนือได้บันทึกไว้ว่า พระนางกัลยาณี มเหสีของพระเจ้าธรรมราชา (พ.ศ. ๑๘๔๔-๑๘๕๓) กษัตริย์องค์ที่ ๘ ของอโยธยาเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ ซึ่งแสดงว่าวัดมเหยงคณ์สร้างในสมัยอโยธยาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย ๔๐ ปี

-ส่วนพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่าศักราช ๗๘๖ มะโรงศก (พ.ศ.๑๙๖๗) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า(เจ้าสามพระยา)กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ขณะที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติกล่าวว่าศักราช ๘๐๐ มะเมียศก (พ.ศ.๑๙๘๑) สมเด็จบรมราชาธิราชเจ้า (เจ้าสามพระยา) เป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์

มีการวิเคราะห์กันว่าวัดมเหยงคณ์นั้นถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งอโยธยา แต่ชำรุดทรุดโทรมเมื่อเวลาผ่านไปกว่า ๑๐๐ ปี ถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงเห็นว่าเป็นวัดเก่าแก่ จึงบูรณะและสร้างเพิ่มเติมให้ใหญ่โตจากโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แ
วัดมเหยงคณ์ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยกษัตริย์พระนามว่า พระภูมิมหาราช (พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ในปีฉลูเอกศก (สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ.๒๒๕๒) วัดมเหยงคณ์ได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา และคงรุ่งเรืองตลอดมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. ๒๓๑๐
ภายในวัดมเหยงคณ์ มีพระอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานสูง ๒ ชั้นลดหลั่นกัน ขนาดพระอุโบสถกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๖ เมตร นับว่าเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังพระอุโบสถทางทิศตะวันตกพ้นเขตกำแพงแก้ว จะพบพระเจดีย์ฐานช้างล้อมซึ่งเป็นเจดีย์องค์ประธานของวัดมเหยงคณ์ ตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวด้านละ ๓๒ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้นทั้ง ๔ ทิศ ที่ฐานทักษิณมีรูปช้างปูนปั้นยืนประดับอยู่ตามซุ้มรอบฐานรวม ๘๐ เชือก องค์เจดีย์ประธานยอดเจดีย์หักตั้งแต่ใต้บัลลังก์ลงมา ฐานชั้นล่างของพระเจดีย์มีซุ้มพระพุทธรูปจตุรทิศยื่นออกมาเห็นชัดเจน


ประวัติวัดมเหยงคณ์ในปัจจุบัน

หลังจากสิ้นกรุงศรีอยุธยาวัดมเหยงคณ์ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๗ พระครูเกษมธรรมทัต(ปัจจุบันเป็นพระภาวนาเขมคุณ วิ.) ได้จัดตั้งสำนักกรรมฐานขึ้นในบริเวณวัดมเหยงคณ์ โบราณสถานได้รับการดูแล ถากถางพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่ขึ้นปกคลุมโบราณสถานไว้ ปรับบริเวณพื้นที่ในฝ่ายพุทธาวาสและสังฆาวาสให้ร่มรื่นและสงบเงียบจากสิ่งรบกวน กรมศิลปากรเองก็เข้ามาดำเนินการขุดแต่งและปฏิบัติงามตามโครงการบูรณะฟื้นฟูดินแดนกลุ่มอโยธยาทำให้สภาพของวัดมเหยงคณ์ ที่เปรียบเสมือนทองคำจมดินอยู่ ได้รับการขัดสีฉวีวรรณให้สุกปลั่ง ปรากฏแก่สายตาของผู้มาพบเห็นได้ชื่นชมและประจักษ์ในคุณค่าของสถาปัตยกรรมไทยในอารามแห่งนี้ได้เต็มที่

ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดมเหยงคณ์เป็นโบราณสถานของชาติ ตั้งแต่วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๔ กรมศิลปากรได้เข้าไปบูรณะ และเนื้อที่นอกเขตโบราณสถานได้จัดเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐาน โดยมีประชาชนเข้าไปรับการอบรมเป็นจนนวนมาก ทางวัดมเหยงคณ์ได้จัดให้มีกิจกรรมทางศาสนามากมาย ได้แก่

– จัดอบรมวิปัสนากรรมฐาน

– จัดอบรมปฏิบัติธรรมพิเศษ

– จัดบวชเนกขัมมภาวนาประจำเดือน

– จัดบวชถือศีล ๘ ประจำวัน

– จัดบวชพระสงฆ์ประจำเดือน และ พระสงฆ์จำพรรษา


ปฏิปทาของวัดมเหยงคณ์

– สร้างสถานที่ให้สัปปายะ เพื่อรองรับผู้ปฏิบัติธรรม
– ตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมเพื่อให้ความรู้ทั้ง พระสงฆ์ และ ประชาชนทั่วไป

– เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พุทธศาสนาในชุมชน

– จัดบวชเนกขัมมภาวนา อบรมจริยธรรม การปฏิบัติธรรม แก่ประชาชนทั่วไป

– ช่วยอนุรักษ์โบราณสถาน และศิลปะของไทยสมัยโบราณ