ประวัติหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

ฆราวาสสมัย
ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขต ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ผู้คนในถิ่นนั้น จะคุ้นเคยเป็นอย่างดี กับเรือนแพหลังหนึ่ง ซึ่งจอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เป็นที่ทราบกันว่า เจ้าของเรือนแพหลังนี้ คือ สามี-ภรรยา ผู้ใจบุญ นามว่า “นายบัวขาว-นางมณี เพ็งอาทิตย์” ผู้ให้กำเนิด เด็กชายสุรศักดิ์ หรือ “พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรสี ” ประทีปธรรมนำจิตใจ ของคณะศิษย์ สุปฏิปันโน ในปัจจุบัน เมื่อเด็กชายสุรศักดิ์ เพ็งอาทิตย์ เจริญวัยขึ้นก็ได้เข้ารับการศึกษา ทั้งในระดับประถม และมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนนครหลวงวิทยาคาร โรงเรียนนครหลวงพิบูลย์ประเสริฐวิทย์ และโรงเรียนอุดมรัชวิทยา ในเขตอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เด็กชายสุรศักดิ์เป็นนักเรียนที่เอาใจใส่การเล่าเรียนเป็นอย่างดี มักได้รับคำชมเชยจากครูที่ทำการสอนอยู่เสมอ แต่จะด้วยวิบากกรรม หรือ มหากุศลบันดาลให้เป็นไป ก็สุดจะคาดเดาได้ จึงทำให้เด็กชายสุรศักดิ์ เกิดประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บร้ายแรง ถึงขั้นต้องหยุดพักการเรียนไปช่วงหนึ่ง


สู่ร่มกาสาวพัสตร์
เมื่อได้ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว โยมบิดา-โยมมารดา จึงได้จัดพิธีอุปสมบทให้ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ณ วัดพร้าวโสภณาราม ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัด พระนครศรีอยุธยา โดยมี ท่านพระครูอดุลธรรม ประกาศเป็น พระอุปัชฌาจารย์ พระอธิการป่วน โสภโณ เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูสำเริง เป็น พระอนุสาวณาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมรํสี (ประทีปธรรมนำความสงบ และหลุดพ้น)

ต่อมาท่านได้ลองไปปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวิปัสสนานครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการแนะนำจากญาติฝ่ายโยมบิดา ทำให้ท่านได้ประจักษ์ถึงพุทธดำรัส ที่ว่า สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสพระธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง

ในช่วงเวลานั้น ท่านได้พบกับความสงบร่มเย็นแท้จริงของชีวิต และรู้สึกลึกซึ้งในคุณค่าของพระธรรมมากยิ่งขึ้น จนทำให้เปลี่ยนความตั้งใจจากเดิม ที่คิดว่าจะบวชเพียงพรรษาเดียว เพื่อทดแทนคุณบิดามารดา เป็นตั้งมั่นที่จะอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ต่อไป เพื่อค้นคว้าศึกษาหลักธรรมให้แตกฉานยิ่งขึ้น

กาลต่อมา มีโอกาสเข้ากราบนมัสการพระครูสังวรสมาธิวัตร (ประเดิม โกมโล) พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน แห่งวัดเพลงวิปัสสนา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เมตตารับไว้เป็นศิษย์ ทั้งยังได้แนะนำให้เข้ารับการอบรมในสำนักปฏิบัติกัมมัฏฐาน


ศึกษาพระอภิธรรมนำชีวิต
ท่านพระครูสังวรสมาธิวัตร ได้เมตตารับพระภิกษุสุรศักดิ์ไว้เป็นศิษย์ ทั้งยังได้แนะนำให้เข้ารับการอบรมในสำนักปฏิบัติกรรมฐาน ณ สำนักวัดเพลงวิปัสสนา จนมีศรัทธาแรงกล้าใคร่ที่จะศึกษาในพระอภิธรรมคัมภีร์ จึงได้ไปสมัครเรียนที่อภิธรรมโชติกวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร โดยเรียนที่ระเบียงวิหารคต และ ณ ที่นี้เอง พระภิกษุสุรศักดิ์ ก็ได้ใช้ความเพียรในการศึกษาพระอภิธรรมคัมภีร์จนมีความรู้แตกฉาน สามารถสอบได้คะแนนสูงสุดเป็นที่หนึ่งของประเทศ จึงได้รับความไว้วางใจ แต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระอภิธรรม ซึ่งในขณะนั้นท่านมีอายุพรรษาเพียง ๓ พรรษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นทั้งครูสอน และนักเรียนศึกษาในชั้นสูงต่อไปด้วย

สำหรับครูที่ถ่ายทอดวิชาพระอภิธรรม ที่พระภิกษุสุรศักดิ์ มีความประทับใจในวิธีการสอนเป็นอันมากก็คือ ท่านพระครูธรรมสุมนต์นนฺทิโก เจ้าอาวาสวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ พระภิกษุสุรศักดิ์ได้ศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ และค้นคว้าศึกษาในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งหาโอกาสออกไปสู่ความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกฝนปฏิบัติในพระธรรมกรรมฐานอยู่เสมอเป็นนิจ และนั่นคือการสั่งสมปัญญาบารมีไว้เป็นปัจจัย ในการเผยแพร่พระพุทธธรรม เป็นผลให้กาลต่อมาได้บังเกิดพระสุปฏิปันโน ผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ยิ่ง อีกรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนาซึ่งฉายานามว่า “เขมรํสี ภิกขุ”เขมรํสี ประทีปธรรมนำจิตใจ

ณ ที่นี้ คือจุดเริ่มต้นของ สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาณาบริเวณของวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หรือเจ้าสามพระยาได้ทรงสร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๑ ซึ่งในปัจจุบันวัดนี้เป็นวัดร้างตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหันตรา (ทุ่งทหารกล้า) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ได้มีสภาพเสื่อมโทรม ลงเป็นอันมาก กรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีไว้ เป็นโบราณสถานแห่งชาติ และเป็นมรดกโลกที่ล้ำค่าอีกแห่งหนึ่ง

ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของท่านพระอาจารย์สุรศักดิ์ ที่มุ่งหวังจะมีส่วนช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผสมผสานกับแรงศรัทธาของญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย จึงทำให้บริเวณโดยรอบโบราณสถานวัดมเหยงคณ์ ที่เคยเป็นป่าเปลี่ยว รกร้างมานาน ได้กลับกลายเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐานที่สงบร่มรื่นในระยะเวลาไม่กี่ปี

ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งมีผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาบำเพ็ญทาน รักษาศีล และปฏิบัติสมาธิภาวนาเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ศาลาปฏิบัติธรรมเดิม ที่สร้างด้วย ไม้ไผ่หลังคามุงจาก คับแคบลงไปมาก จำเป็นต้องสร้างศาลาหลังใหม่ที่ถาวรและ กว้างขวางเพื่อรองรับญาติโยม ศาลาปฏิบัติธรรมหลังใหม่นี้ก็คือ”ศาลา เขมรังสี”

ด้วยปฏิปทาอันดีงามของท่านพระอาจารย์สุรศักดิ์ จึงทำให้พระอาจารย์ของท่านคือท่านพระครูสังวรสมาธิวัตรได้มีบัญชา ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดคูบางหลวงอนุกิจวิธูร ตำบลคูบางหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ โดยทำหน้าที่ควบคู่ไปกับการเป็นผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ นับเป็นภาระรับผิดชอบที่หนักไม่น้อย


สมณศักดิ์ 

พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูเกษมธรรมทัต
พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ พระภาวนาเขมคุณ วิ.
พ.ศ ๒๕๖๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชภาวนาวชิรญาณ วิ.

ที่มา
1. มติมหาเถรสมาคม เรื่อง เสนอแต่งตั้งพระสังฆาธิการให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๒
2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๓๑, ตอนที่ ๒๕ ข, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๗, หน้า ๗
3. พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com